วันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2551

ฟรีเว็บโฮสติ้งสำหรับนักเรียน

ฟรีเว็บโฮสติ้งคือ เว็บไซต์ที่เปิดบริการให้บุคคลทั่วไปเข้าไปขอพื้นที่พัฒนาโฮมเพจของสมาชิกแต่ละคนผ่านชื่อโดเมนเนมของผู้ให้บริการ เช่น yourname.th.gs หรือ thai.net/yourname เป็นต้น สมาชิกไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด มีผู้ให้บริการส่วนหนึ่งที่เปิดบริการเพื่อธุรกิจ เมื่อสมาชิกท่านใดต้องการเปลี่ยนสถานะ หรือขยายข้อจำกัดจากการเป็นสมาชิกทั่วไปเป็นสมาชิกอภิสิทธิ์ เช่น ได้รับพื้นที่มากขึ้น มีเครื่องมือ หรือภาษาให้ใช้เพิ่มขึ้น จะต้องเสียค่าใช้บริการสำหรับบริการเหล่านั้น ในอดีตมีเว็บโฮสติ้งมากมายที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าไปจับจอง และเผยแพร่ข้อมูลที่เจ้าของโฮมเพจให้ความสนใจ แต่เพราะปัญหาเศรษฐกิจ หรือผลตอบแทนไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ทำให้ฟรีเว็บโฮสติ้งมากมายปิดบริการ หรือเปลี่ยนนโยบาย และสร้างข้อจำกัด เพื่อบีบให้ผู้ที่ไม่มุ่งมั่นเลิกใช้บริการ สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการอยู่เหนือข้อจำกัด และมีความมุ่งมั่นมักเลือกจ่ายค่าบริการ เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิพิเศษ และความสะดวกสบายจากบริการที่เตรียมไว้
ฟรีเว็บโฮสติ้งที่ถูกพัฒนาโดยคนไทย และยังเปิดให้บริการอยู่ต่างเปลี่ยนนโยบายให้เข้มงวดขึ้น หรือยกเลิกบริการส่วนของ Server Side Script แต่ให้บริการเฉพาะ Client Side Script เพราะการควบคุมความปลอดภัยทำได้ยาก และไม่มีรายได้มาสนับสนุนบุคลากรที่มีความชำนาญ ฟรีเว็บโฮสติ้งที่ยังเปิดให้บริการอยู่จึงเหลือไม่มาก หรือไม่ก็เปิดบริการขึ้นใหม่ เช่น thcity.com thaicool.com thaiinfonet.com thainame.net pantown.com เป็นต้น ถ้าจะใช้บริการเพื่อสั่งสมประสบการณ์ก็ขอให้เลือกใช้จากหลายรายพร้อมกัน เพราะถ้าเลือกรายใดรายหนึ่ง แล้วเขาปิดบริการในอนาคต ก็จะไม่เสียใจในภายหลัง
มีนักเรียนมากมายที่ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ และได้รับการส่งเสริมจากครูที่เห็นความสำคัญของอินเทอร์เน็ต ต่างก็มีโฮมเพจเป็นของตนเองเผยแพร่ในฟรีเว็บโฮสติ้ง เพราะสามารถขอใช้บริการได้ง่าย บางโรงเรียนครูจะเปิดบริการฟรีเว็บโฮสติ้งสำหรับนักเรียน ทำให้ส่งข้อมูลเข้าเครื่องบริการได้อย่างรวดเร็ว ผู้เขียนเข้าสืบค้นโฮมเพจของนักเรียนจากหลายโรงเรียน และเผยแพร่ไว้ที่ thaiall.com/student แต่บันทึกไว้ได้เพียงส่วนหนึ่งจากที่พบจริง เพราะแต่ละโรงเรียนมีโฮมเพจนักเรียนสะสมไว้หลายปี และมีคุณภาพกว่าที่คาดไว้ เพียงเท่านี้ผู้เขียนก็พอเข้าใจแล้วว่านักเรียนไทยในโรงเรียนที่มีศักยภาพนั้นมีความสามารถเพียงใด
นักเรียนส่วนใหญ่มีเวลาไม่มากนัก ในการหาความรู้เพื่อพัฒนาโฮมเพจส่วนตัว เพราะมีหัวข้อมากมายที่จะต้องเรียนรู้กว่าจะพัฒนาโฮมเพจให้สมบูรณ์ จึงต้องเลือกเครื่องมือที่ใช้ง่าย และมีประสิทธิภาพ เช่น FrontPage, Namo, NVU หรือ DreamWeaver ส่วนเทคนิคที่ต้องใช้เวลาศึกษามาก เช่น RSS, CMS, Flash Game, Web Service หรือ Web Application คงต้องรอให้เข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา เพราะการให้ความสำคัญกับพัฒนาโฮมเพจมากไปอาจทำให้แบ่งเวลาให้การอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่เต็มที่เท่าที่ควร และเป็นที่แน่นอนว่าการเขียนโฮมเพจเก่ง ไม่เกี่ยวข้องกับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐที่ใช้วิธีสอบคัดเลือก ก็หวังว่าเยาวชนไทยจะรู้จักการแบ่งเวลาให้กับสิ่งตนคิดว่าสำคัญที่สุด เพราะทุกคนให้ความสำคัญกับแต่ละสิ่งไม่เท่ากัน

อีเลินนิ่งสำหรับผู้มีทักษะ

อีเลินนิ่ง (e-Learning) หรือการเรียนรู้แบบออนไลน์ คือ ระบบการจัดการเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่เปิดให้ผู้เรียนสามารถเข้าศึกษา หรือเรียนรู้ ได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเข้าชั้นเรียนในโรงเรียนตามตารางแบบเดิม เปิดโอกาสให้กับผู้ที่มีความพร้อมด้านเวลา ความใฝ่รู้ และมีวินัยในตนเอง แต่ความคิดเห็นของนักวิชาการกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการนำอีเลินนิ่งมาใช้ทดแทนการเรียนแบบปกติ เพราะเชื่อว่าการมีปฎิสัมพันธ์ทางตรงระหว่างครู และนักเรียน มีความจำเป็นต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ที่ขาดไม่ได้ เพื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิผล
อีเลินนิ่งมีประโยชน์มากสำหรับนักเรียนในปัจจุบัน เพราะการนำเสนอสื่อประกอบการสอนอย่างเหมาะสม จะทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนมีประสิทธิผล แต่อาจไม่ประสบความสำเร็จถ้านักเรียนไม่ให้เวลากับการอ่าน ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง ขาดวินัยในการเรียน ขาดการร่วมกิจกรรมในกลุ่ม หรือค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมน้อยเกินไป ก็อาจไม่ได้ประโยชน์จากระบบอีเลินนิ่งเต็มรูปแบบเท่าที่ควร
ข้อมูลจากเว็บไซต์ thaicyberu.go.th ชี้ให้เห็นว่านักเรียนที่ต้องการศึกษาหาความรู้ผ่านระบบอีเลินนิ่งควรมีทักษะดังต่อไปนี้ “ทักษะการวางแผนและควบคุมเวลาในการทำกิจกรรมการเรียน การจัดระบบ ทักษะในการสื่อสาร ทักษะในการทำงานกลุ่มย่อย ทักษะในการค้นคว้าข้อมูล ทักษะในการคิดไตร่ตรอง คิดวิเคราะห์ โดยจะต้องเพิ่มเติมทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทักษะในการพิมพ์ดีดภาษาไทย-อังกฤษ และทักษะการสื่อสารโดยใช้ข้อความแทนวาจา”
ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องประชาชนให้ความสำคัญกับการอ่านน้อย ทำให้หลายองค์กรเริ่มให้การสนับสนุนโครงการส่งเสริมการอ่าน หรือคำขวัญปีล่าสุดก็สนับสนุนให้เยาวชนให้ความสำคัญกับการอ่านมากขึ้น ทักษะด้านการอ่านของผู้เรียนเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ระบบอีเลินนิ่งประสบความสำเร็จ อีเลินนิ่งคือการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนใช้ทักษะด้านการอ่านอย่างเต็มที่ เพื่อเข้าถึงองค์ความรู้ที่ผู้สอนตั้งใจนำเสนอ ถ้านักเรียนให้เวลา หรือมีทักษะด้านการอ่านน้อย การเรียนรู้ผ่านระบบอีเลินนิ่งย่อมล้มเหลว ปัญหามักเกิดจากตัวนักเรียนที่ขาดวินัย และทักษะในการอ่าน
ผู้เขียนศึกษาเรื่องอีเลินนิ่งมาตั้งแต่ปี 2542 และจัดทำสื่อการสอนแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าเยาวชนไทยบางส่วนไม่สนใจศึกษาหาความรู้จากอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติมเลยถ้าไม่ถูกบังคับ แต่ให้ความสำคัญกับเว็บไซต์กลุ่มบันเทิงเพียงอย่างเดียว เช่น นักเรียนไม่สามารถเรียนต่อจนสำเร็จการศึกษาเพราะติดเกมออนไลน์ ข้อมูลสถิติการเข้าเว็บไซต์จาก truehits.net พบว่าคนไทยเข้าใช้เว็บไซต์กลุ่มการศึกษาเพียง 1.76 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อาจเป็นเพราะครูไทยไม่เป็นแม่พิมพ์อย่างที่ควร ปัจจุบันเราพบผลงานทางวิชาการของครูที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ถ้าท่านเป็นประชาชนคนไทย คิดว่าควรทำอย่างไรให้ครูไทยเผยแพร่ผลงานเพื่อการศึกษามากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อบุตรหลาน และตัวท่าน